(เตชทัต ปักสังขาเนย์)
ประเพณีบุญบั้งไฟกับ ความเข้าใจที่ผิด
ประเพณีที่ชาวอีสานกระทำสืบต่อกันมานาน จนเรียกได้ว่า เรียงตามประวิติศาสตร์และนิทานประรำประราเล่าขานกันมา แต่ที่เป็นจุดเด่นก็เกิดขึ้นที่จังหวัดยโสธร กลายมาเป็นประเพณีแห่บั้งไฟที่ทั่วโลกทราบกัน ประเพณีแห่บั้งไฟนี้ชาวอีสานจะจัดให้มีขึ้นในช่วงของเดือนที่ ๖ กล่าวตามทางจันทรคติ คือเดือนหก จะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนกรกฎาคม โดยมีจุดมุงหมายคือ การขอฝน เพราะคนอีสานโดยส่วนใหญ่จะทำไร่ทำนาเป็นส่วนใหญ่ จัดได้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพราะมีการทำนาเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ด้วยเหตุที่เป็นภาคที่ทำเกษตรกรรมจึงต้องอาศัยน้ำฝน ประเพณีนี้จึงมีที่มาว่าหากต้องการให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลจำต้องมีการบวงสรวงด้วยบั้งไฟ จุดขึ้นไปบนฟ้าป่าวประกาศให้เทพยดาทั้งหลายทราบว่า ถึงฤดูกาลที่จะทำการเกษตรแล้ว และขอเทพพิรุณได้ประทานฝนเพื่อการทำเกษตร
ในภาคอีสานจะจุดบั้งไฟเพื่อเป็นการสักการบูชา พญาแถน หรือพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในเทวโลกที่สถิตที่ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระอินทร์ทรงทราบก็จะบัญชาให้พระพิรุณเทพแห่งฝนได้ไปโปรยปรายน้ำในตามฤดูกาล
กล่าวอีกนัยหนึ่งประเพณีนี้จะเกี่ยวเนื่องกับนิทานเรื่อง ผาแดงนางไอ่ กับข้อพิพาทกันกับพญานาคพังคีที่แข่งขันการบั้งไฟจนเกิดการณ์แย่งชิงนางไอ่และต้องฆ่าฟันกันและมาหยุดเหตุของการฆ่าฟันกันโดยการเข้าใจกันและให้ถือเอาพญานาคเป็นส่วนหนึ่งของการนำมาช่วยดูแลในเรื่องของน้ำเพื่อทำการเกษตร ฉะนั้นที่มาของบั้งไฟจึงเกี่ยวเนื่องกับพญานาคดังที่กล่าวมา
อีกนัยหนึ่งเรื่องราวการเกิดขึ้นนของบุญบั้งไฟ คำว่า บุญเราเข้าใจในความหมายว่า การทำบุญในประเพณีการจุดบั้งไฟ และในเรื่องของบุญก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับศาสนาโดยเฉพาะคนภาคอีสานมีความเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธ ประเพณีต่าง ๆ จึงต้องมีพระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งจะเพิ่มความเป็นสิริมงคลในช่วงแรกเริ่มของการทำเกษตรกรรม จึงถือเป็นประเพณีบุญบั้งไฟ
ในปัจจุบันการทำกิจกรรมประเพณีบุญบั้งไฟเปลี่ยนอย่างมาก เนื่องจากว่า คนไม่เข้าใจในเรื่องของการทำบุญจึงมุ่งเน้นไปในเรื่องของความสนุกสนานโดยไม่ได้มองในเรื่องของแก่นความจริงและจุดมุ่งหมายของประเพณีบุญบั้งไฟ คืออะไร จึงทำให้สิ่งที่ได้ไม่เกิดผลดีกลับทำให้มีแต่ผลเสียมากขึ้น ได้แก่ การเสียพนันบั้งไฟ อุบัติเหตุจากบั้งไฟ อุบัติเหตุจากการดื่มของมึนเมา เป็นต้น เหล่านี้ จึงเป็นสื่อในเรื่องของประเพณีที่ผิดแผกไปจากเดิม วัฒนธรรมที่เก่าแก่ก็เริ่มเลือนหายไป การที่คนไทยเข้าใจวัฒนธรรมที่ผิดก็เป็นผลเสียกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก เพราะในบางครั้งเราก็ไม่สามารถอธิบายที่มาของวัฒนธรรมที่เรากระทำอยู่ ว่ามีที่มาอย่างไร จึงอยากให้คนไทยเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องประเพณีที่ดีงามก็ให้เกิดสิ่งที่ดีงาม อย่าให้เป็นเพียงเปลือกของความดีที่ไม่มีอะไรเลย